top of page

เทคนิคการเลี้ยงปลากัด

        เนื่องจากธรรมชาติสรรสร้างปลากัดให้มีความเเข็งเเรงเเละทนทรหดทำให้ปลากัดยังคงอยู่คู่กับโลกใบนี้อย่างยาวนาน  เเต่ผู้ที่สนใจในวิถีของปลากัดต่างก็เเสวงหาวิธีที่จะเลี้ยงปลากัดของตนให้มีสุขภาพร่างกายที่เเข็งเเรง ดังนั้นวันนี้เราจึงเลือกที่จะเขียนบนความที่รวมเทคนิคดีๆเพื่อกลุ่มคนที่มีหัวใจเดียวกัน

หัวใจหลักของการเลี้ยงปลากัดทางร้านให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งที่ปลากัดต้องว่ายเเละอาศัยอยู่ตลอดเวลา สำหรับท่านที่ต้องการให้ปลาคึก ก่อหวอดได้ดี เเละสดชื่นตลอดเวลา ควรหาเวลาเปลี่ยนน้ำทุก 3-5 วัน เพื่อให้น้ำนั้นใหม่อยู่เสมอเเละเป็นการรักษาความตื่นตัวตามธรรมชาติของปลาเมื่อได้น้ำใหม่ โดยน้ำใหม่นั้นควรทำการวางเพื่อให้คลอรีนระเหยเสียก่อนจึงให้ปลากัด เเม้ว่าปลากัดจะสามารถทนน้ำที่มีคลอรีนได้ก็ตาม  หากท่านที่มีใบหูกวางซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปก็สามารถนำใบหูกวางมาตากให้เเห้งเเละฉีกก้านทิ้งเพื่อป้องกันฝ้าบนน้ำ เเล้วจึงนำใบใส่ลงโหลได้เลย หรือจะทำการเเช่น้ำเพื่อนำน้ำหมักมาใส่ก็ได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคร่วมทั้งยังมีสารเทนนินที่ช่วยให้ปลาสดชื่นอีกด้วย ทริกเล็กคือควรใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำปลากัดเพื่อเป็นป้องกันโรคอีกด้วย 

        สำหรับปัจจัยต่อมาที่ทางร้านให้ความสนใจคือ อาหารของปลากัด อาหารของปลากัดไม่ว่าจะเป็นอาหารสดหรืออาหารเม็ดนั้น ควรที่จะสะอาดเนื่องจากปลากัดกินอาหารเข้าไปเเล้วอาจก่อให้เกิดโรค ซึ่งการรักษานั้นยุ่งยากมากกว่าการป้องกันโรค  ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์การให้อาหารปลากัดหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารเม็ดซึ่งขึ้นราเนื่องจากโดนน้ำ เมื่อผู้เขียนนำไปให้ปลากัดกินทำให้ปลากัดเกิดโรคเเละตายในเวลาอันสั้น ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าการตรวจสอบอาหารก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักเลี้ยงปลาทั้งหลาย หรืออย่างอาหารสด ผู้เขียนเคยให้ทั้งลูกน้ำ ไรทะเล ไรเเดงน้ำจืด ซึ่งความสะอาดค่อนข้างน้อย เมื่อปลากัดอ่อนเเอก็เกิดโรคขึ้นมาจนปลาของผู้เขียนเองออกอาการปางตายเสียหลายตัว ดังนั้นผู้เขียนจึงศึกษาการทำความสะอาดอาหารเหล่านั้นเเละไม่ประมาทในการทำความสะอาดเพื่อป้องกันโรคทั้งหลายที่จะเกิดกับปลาอันเป็นที่รัก  เทคนิค การให้อาหารเม็ดควรระมัดระวังไม่ให้อาหารเม็ดสัมผัสกับความชื้นหรือเปียกน้ำ หากเปียกน้ำควรทิ้งเสีย ส่วนอาหารสดควรทำการล้างให้สะอาด เช่น การให้อาหารเป็นลูกน้ำ เนื่องจากลูกน้ำอาศัยในน้ำเสียสกปรก เเม้จะล้างด้วยน้ำเปล่าเเล้วก็ยังมีเศษความสกปรกอยู่ภายในตัวมาก จึงควรให้ไข่เเดงเเละรอให้ลูกน้ำขับถ่ายของเสียออกก่อน นอกจากนี้ไข่เเดงยังช่วยเป็นเเหล่งโปรตีนให้ปลากัดได้อีกด้วย การให้อาหารปลากัดด้วยไรน้ำจืดต้องระมัดระวังหากเป็นการช้อนมาจากเเหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเเล้ว อาจมีลูกปลาสายพันธุ์อื่นเช่น ปลาหมอ มากินปลาของท่านจนหมดบ่อได้เลยทีเดียว 

        ปัจจัยถัดมาอีกข้อคือ การตรวจดูสุขภาพของปลากัด ผู้เขียนเองเนื่องจากบางครั้งก็ไม่มีเวลาที่จะดูเเลเหล่าปลากัด ทำให้หลายๆครั้งปลากัดเเสดงอาการเจ็บป่วยเเต่เราไม่ทราบหรือเมื่อทราบปลาก็เป็นหนักจนเเทบหมดหนทางในการรักษาเสียเเล้ว การตรวจสอบสุขภาพของปลาจึงมีความสำคัญมาก เทคนิคเล็กๆคือ ปลาตัวผู้ต้องชอบที่จะก่อหวอดเเละกินอาหารปกติ ส่วนปลาตัวเมียนั้นต้องว่ายน้ำ ไม่นอนนิ่งอยู่ก้นภาชนะ หรือซุกตัวเครื่องลีบเเละกินอาหารเป็นปกติเป็นต้น

        สำหรับน้ำหมักปลากัด กลวิธีของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไปแต่ทางผู้เขียนจะใส่น้ำหมักใบหูกวางให้มีสีเหลืองอ่อนเท่านั้น

ส่วนการหมักปลากัดที่ครีบเครื่องขาดผู้เขียนจะหมักน้ำให้มีสีที่เข้มแก่กว่า

        สำหรับเรืื่องลักษณะนิสัยนั้น ปลากัดป่าจะค่อนข้างกลัวคนเเละชอบกระโดด ซึ่งตัวผู้เขียนเองชื่นชอบการเลี้ยงปลากัดป่ามากกว่าปลากัดชนิดอื่นซึ่งปลากัดป่าเป็นปลาที่ชอบกระโดดมากดังนั้นจึงควรหาที่ปิดโดยมีช่องสำหรับอากาศหายใจเล็กๆก็เพียงพอแล้ว ส่วนปลากัดเเฟนซีมักไม่ค่อยกระโดดมากนัก นอกจากนี้ควรระมัดระวังศัตรูทางธรรมชาติของปลากัดเช่นกัน  ยกตัวอย่างกรณีของผู้เขียนเองต้องสูญเสียปลากัดเนื่องจากจิ้งจกมากิน จึงควรหาภาชนะปิดไว้เพื่อป้องกัน

        ผู้เขียนก็ขอจบการเเนะนำเพียงเท่านี้ ท่านทั้งหลายสามารถติดตามบทความปลากัดของทางร้านได้ที่นี่       ทางร้านจะพยายามหาข้อมูลเเละเขียนเเนะนำต่อไปเรื่อย ขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนครับ

bottom of page